การติดอยู่กับกรอบการทำเกษตรแบบดั้งเดิม คิดแบบเดิม ทำแบบเดิมที่ทำมาตลอดหลายปี ทำให้เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ หลงอยู่ในกับดักความยากจน ที่มีแต่หนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี บทความชิ้นนี้ จะให้มุมมองใหม่กับเกษตรกรไทย ว่า เกษตรกร ไม่ใช่อาชีพที่ยากจนอีกต่อไป อย่างน้อยต้องพออยู่ พอกิน มีเหลือเก็บได้ ไม่ลำบากขัดสนเป็นหนี้เช่นปัจจุบัน

.

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล จิรัฐ เจนพึ่งพร ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดทำบทความ “เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’: ตอนที่ 2” บอกเล่าถึงหนทางออกจากกับดักความยากจน โดยการคิดใหม่ทำใหม่กับการเกษตรที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 ประการดังนี้
.

1.ทำเกษตรแปลงใหญ่ การรวมแปลงเกษตรช่วยลดต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) เนื่องจากแปลงเกษตรที่ใหญ่เอื้อให้สามารถนำเครื่องจักรประเภทต่าง ๆ มาใช้หว่าน ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวได้ แล้วก็คุ้มค่ากว่าการใช้เครื่องจักรกับหลายแปลงเล็ก เช่น ชาวไร่อ้อยบ้านหนองแซง จ.ชัยภูมิ ที่รวมกลุ่มกันจัดสรรผืนไร่ของสมาชิกให้เหมาะแก่การนำรถเข้าไปเกี่ยวอ้อย แล้วแบ่งกันใช้เครื่องจักร ปัจจุบันกลุ่มนี้มีรถตัดอ้อย 4 คัน มาใช้แทนการจ้างคนงานตัดอ้อยสด ซึ่งช่วยลดต้นทุนตัดอ้อยสดต่อไร่เหลือน้อยกว่าครึ่ง

.

2. เกษตรกรผสมผสาน การทำเกษตรปลูกพืชที่หลากหลายขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ไปเพาะปลูกพืชอื่น ๆ มักได้รับผลตอบแทนมากกว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหากวัดที่ระดับความเสี่ยงเดียวกัน1 และหากทำการเกษตรผสมผสานที่มีการสร้างสมดุลของระบบนิเวศด้วย เช่น โมเดลโคกหนองนาตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ที่มีการจัดสรรแปลงสำหรับขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำนา ปลูกพืชไร่ ทำสวนผัก และสวนไม้ผล สร้างเป็นระบบนิเวศหมุนเวียน ทำให้มีต้นทุนต่ำ มีภูมิคุ้มกันต่อภัยแล้ง และมีกินมีใช้พึ่งพาตัวเองได้ตลอดปี

.

3.เกษตรประณีตจากการทดสอบของ บจม.เบทาโกรกับเกษตรกร 219 ราย2พบว่า การเพาะปลูกพืชตามหลักวิชาการทำให้ผลผลิตทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30-50 โดยการตรวจดินและใช้ปุ๋ยในสูตร ปริมาณ และเวลาที่เหมาะสมช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และการให้น้ำที่ถูกต้องช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ร้อยละ 20 นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถทำการเกษตรแม่นยำขึ้นได้อีกโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ตลอดทั้งกระบวนการผลิต เช่น Smart farmer ต.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งใช้โดรนเพื่อสำรวจดูทิศทางน้ำไหลก่อนตีแปลงเพาะปลูก และใช้เซนเซอร์ระยะไกลเพื่อติดตามการเจริญเติบโตและสุขภาพของพืช ซึ่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดความเสี่ยง และประหยัดแรงงาน

.

4.การต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทำได้หลายวิธี วิธีการหนึ่งคือการทำเกษตรปลอดสารพิษ และการจัดการข้อมูลทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่การเริ่มต้นเพาะปลูก การใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา ไปจนถึงการขนส่ง เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าสินค้าเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สามารถทำผลิตภัณฑ์ต่อยอดได้อีก เช่นแปลงนาสะอาด จ.กำแพงเพชร ใช้ข้าวผลิตน้ำมันรำข้าว ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าขายข้าวเปลือกกว่า 8 เท่า และยังนำเศษวัสดุที่เหลือไปใช้จนหมด โดยนำแกลบไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า แล้วนำขี้เถ้าแกลบไปผสมดิน

.

5.ปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงหรือประกอบอาชีพอื่นเกษตรกร ต.ดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี เปลี่ยนการทำนามาปลูกไม้ดอกไม้ประดับส่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกษตรกรบ้านแสนตอ จ.ขอนแก่น หันมาทำฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อผลิตโปรตีนผง ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าหลายเท่าตัว นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนประกอบอาชีพอื่นนอกจากการเกษตร เช่น ผลิตน้ำพริก และเสื้อผ้าฝ้าย รวมถึงให้บริการนักท่องเที่ยว พัฒนาธุรกิจจนเป็นผู้ประกอบการ SME ที่มีรายได้ดีและมั่นคง

ทั้ง 5 แนวทางข้างต้นเป็นทางเลือกที่เกษตรกร สามารถนำไปคิดพิจารณาว่า การทำเกษตรแบบไหนที่เหมาะสมที่สุด แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ทางบุรินทร์เจอนี่ มีข้อคิด 5 ประการที่เกษตรกรควรจะนำไปคิดพิจารณาและปรับใช้
.

ประการที่หนึ่ง คิดใหม่ทำใหม่ คิดนอกกรอบ ออกจากโมเดลเดิม ถ้าเกษตรแบบที่ทำอยู่ประสบปัญหา รายได้ลดลงแต่หนี้เพิ่มขึ้น ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยามากขึ้น ลองคิดใหม่ทำใหม่ กับการทำเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรแบบผสมผสาน การใช้นวัตกรรมมาช่วยให้การเพาะปลูกดีขึ้น หรือเลือกปลูกพืชชนิดอื่น หรือทำเกษตรแบบอื่นเช่น เลี้ยงแมลงควบคู่กัน

.

ประการที่สอง ต้อง รู้ดิน รู้น้ำ รู้พืช รู้สภาพอากาศ และรู้ตลาด สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจว่าพื้นดินแปลงนี้เหมาะกับอะไร ปลูกพืชชนิดไหน จะต้องพัฒนาอย่างไร ปลูกอะไรแล้วจะดี

.

ประการที่สาม นวัตกรรมช่วยได้ ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมหลายอย่างจะช่วยให้คุณทำเกษตรได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องระมัดระวังกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

ประการที่สี่ ฝึกฝนให้ชำนาญ ถ้าเลือกได้แล้วว่าจะทำอะไร ให้ศึกษาทดลองทำจนชาญ จะได้รู้ว่าสิ่งที่ทำให้ผลผลิตอย่างที่คิดไหม

.

ประการที่ห้า รวมกลุ่มชุมชน ทำอะไรคนเดียวก็สำเร็จเพียงเล็กๆ แต่หากมีคนช่วยคิดช่วยทำ แลกเปลี่ยนกันในชุมชน ความสำเร็จจะมากขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้น

.

ทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกของเกษตรกรในการก้าวออกจากกับดัก  ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันไปตามบริบทของสภาพแวดล้อม แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มีจุดเริ่มต้นเดียวกัน คือ แรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลง คิดใหม่ทำใหม่ เพื่อ

หลุดพ้นจากสภาพในปัจจุบัน บุรินทร์เจอนี่ ขอเป็นหนึ่งแรงบันดาลใจให้ทุกคนก้าวผ่านและเปลี่ยนตัวเองไปสู่ความเป็น เกษตรสุข ให้ได้ แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า

Passion in this story