บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด

ที่มาและแนวคิดของคำว่า “Driving People’s Actions” มาจากอะไร

“Driving People’s Actions” มาจากหลักการหลัก ๆ 2 เรื่องด้วยกัน คือ ปรัชญาของฮาคูโฮโดทั้งกรุ๊ป เรามีคีย์เวิร์ดที่เราเรียกกันว่า เซคัทซึชะ (Sei-katsu-sha) แปลว่า ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม (Life Living Person) เป็นวิธีคิดที่ว่า เวลาที่เราคุยหรือเรามีกลุ่มเป้าหมาย เราไม่มองเขาเป็นแค่ผู้บริโภค เพราะพวกเราไม่ได้เกิดมาเพื่อบริโภคแบรนด์ แต่เราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตในแบบที่เราชอบ ดังนั้น วิธีที่เรามองแบบเซคัทซึชะ คือการมองไปที่ตัวตนและวิถีชีวิตของบุคคล และหามุมที่แบรนด์จะเข้าไปเชื่อมโยงกับเขา เพื่อทำให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างขึ้น 

และในมุมของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์สเองมีความเชี่ยวชาญในการที่จะทำงานตอบโจทย์ให้กับลูกค้าหรือนักการตลาด เราก็ต้องมองว่าพฤติกรรมที่เราต้องการ เราต้องการจะทำให้เกิดอะไรกับแบรนด์ เช่น ทำให้เกิดยอดขาย ทำให้เกิดความชอบของแบรนด์ หรือทำให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์อย่างไร เมื่อเราผสมทั้งแนวคิดโดยพื้นฐาน และมุมมองเป้าหมายที่ชัดเจน จึงเกิดเป็นแนวคิด Driving People’s Actions 

แนวคิด Driving People’s Actions สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในเชิงของการตลาดได้อย่างไร

จริง ๆ แล้วต้องกลับไปที่ความท้าทายต่อนักการตลาดยุคปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ ทั้งเศรษฐกิจ รูปแบบของผู้บริโภค หรือผู้คน ทำให้มีความท้าทายและมีความยากในการทำการตลาดที่จะให้เกิดยอดขายหรือทำให้เกิดอะไรสักอย่างหนึ่ง ดังนั้น ทุกเม็ดเงินที่ลงทุนต้องนำมาซึ่งความคุ้มค่า เรามองว่าการลงทุนเรื่องการสื่อสารเป็นสิ่งที่นักการตลาดทุกคนต้องการผลลัพธ์ที่ชัดเจน  

ดังนั้น เราก็จะมองไปที่โจทย์ว่านักการตลาดต้องการอะไร ปลายทางต้องการผลลัพธ์อะไรที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายของเขา ทีนี้ระหว่างทางก็เป็นเรื่องของความใส่ใจและสรรพกำลังทั้งหมด ที่ทางฮาคูโฮโด เฟิร์ส เราจะใส่เรื่องของงานวิจัย เทคโนโลยีการสื่อสาร มุมมองครีเอทีฟใหม่ ๆ เข้าไปเติมเพื่อให้เข้าไปถึงทั้งหมด และขับเคลื่อนให้พฤติกรรมของผู้บริโภคหรือพฤติกรรมของผู้คน จนเกิดมุมที่แบรนด์รู้สึกว่ามีพื้นที่ที่แบรนด์ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตของเขา 

แนวคิด Driving People’s Actions สามารถที่จะไปเชื่อมโยงถึงความยั่งยืนในระดับสังคม หรือระดับโลกได้อย่างไร

ด้วยความที่เรามองทุกอย่างเป็นความยั่งยืน มุมมองมันจะเป็นระยะยาวมากขึ้น ในมุมที่แบรนด์เชื่อมโยงกับผู้คนที่เป็นระยะยาวขึ้น มันก็จะเป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่จำเป็น ในลักษณะที่ เวลาเราจะสื่อสารอะไรเข้าไป เรามองว่าผู้คนเหล่านั้นหรือกลุ่มเป้าหมายเขามองหาอะไร แบบไหน แบรนด์ก็จะสื่อสารเท่าที่จำเป็น เพื่อทำให้เกิดพฤติกรรมที่เราต้องการ เพื่อลดทรัพยากรบางอย่าง ไม่ฟุ้มเฟ้อจนเกินไป ก็จะช่วยลดงบประมาณด้วย

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของวิธีคิดอื่น ๆ ที่เอเจนซี่จะมองให้กับแบรนด์ เช่น เวลาจัดงานหรือกิจกรรมอะไรสักอย่าง เราจะมองว่า วัสดุอะไรทั้งหลายที่เราทำแต่ละงานอย่างอีเว้นท์ มีอะไรที่สามารถรียูสได้บ้าง เราก็จะมีคลังวัตถุดิบของเราอยู่ และยังช่วยให้ทางฝ่ายการตลาดลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย 

ในระดับองค์กร เรื่องของความยั่งยืนอยู่ในจิตวิญญาณทุกอย่างที่เราทำ เราพยายามทำให้ทุกอย่างไปที่ความยั่งยืนทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ในองค์กรของเรา ความเท่าเทียมทางเพศสำคัญมาก เรามีทุกเพศ และให้ความเคารพในสิ่งนั้น ซึ่งความเท่าเทียมนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่รวมถึงลำดับชั้นตำแหน่งงานด้วย องค์กรเราจะมีระยะห่างทางสังคมน้อยมาก เพื่อให้ทุกคนมีความรู้สึกเท่าเทียมกัน 

นอกจากนั้นเรื่องของทรัพยากรเราก็จะมีเรื่องของนโยบายลดการใช้กระดาษ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น เพื่อให้เราได้ลดทรัพยากรกระดาษตรงนั้น รวมถึงลดทรัพยากรอื่น ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ให้พนักงานเดินทางเท่าที่จำเป็น โดยมีนโยบายเวิร์กฟอร์มโฮม เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าทำงานกับเราได้มีความยั่งยืนในมุมของวิถีชีวิตที่ตอบโจทย์ เขาสามารถมีเวลาอยู่เวิร์กฟอร์มโฮมได้บ้าง 

เป้าหมายระยะสั้นของฮาคูโฮโด เฟิร์ส ในปี 2024 กับแนวคิด Driving People’s Actions 

เราต้องการขยายรูปแบบของการทำงานแบบนี้ให้กว้างขึ้น เพราะเรามีลูกค้าบางกลุ่มที่อยู่กับเราอย่างเหนียวแน่น และมีลูกค้าบางกลุ่มที่เรายังไม่ได้เข้าถึงมากนัก เราก็ต้องการขยายตรงนี้มากขึ้น เพื่อให้รูปแบบนี้เป็นที่รับรู้และเข้าใจของนักการตลาดมากขึ้น 

ในส่วนของการขยายนี้ประกอบกันก็คือเราทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสาร เทคโนโลยีทางการตลาดเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์มากขึ้น รวมถึงนำ AI และดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาซัพพอร์ต

อีกอย่างหนึ่งก็คือเราอยากให้ทุกแคมเปญที่เราออกไปมีมุมมองที่ยั่งยืนต่อสังคม แน่นอนว่าในการทำธุรกิจเราก็ต้องมีการสื่อสารที่ตอบโจทย์ทางการตลาด แต่ทุกครั้งเราพยายามคิดว่าการสื่อสารนั้นเรามีบทบาทอะไรที่จะสร้างความรับผิดชอบกับสังคมให้เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น  เวลาเราคิดแคมเปญ เราจึงคิดแคมเปญที่มีประโยชน์กับสังคม 

Passion in this story