ใครๆก็ว่ายุคนี้ คือยุคของการตลาดแบบ Influencer Marketing ซึ่งในปัจจุบันซับซ้อนขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก เทคโนโลยีทำให้พวกเราทุกคนเป็นสื่อได้ ใช้ความคิดคำพูดโน้มน้าวคนรอบตัวได้ แต่ถ้าเจ้าของธุรกิจศึกษาให้ลึกลงไป แล้วสามารถดึง Influencer มาใช้ได้อย่างถูกประเภท ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนกับ Influencer ก็จะคุ้มค่าเงินที่เสียไป

เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ Influencer ทั้ง 7 ประเภท ผ่านการตีความโดยใช้ KLOUT’s Influencer Matrix ประกอบกับการแบ่ง Influencer พร้อมเรียนรู้ข้อดีของเสียของแต่ละประเภท

ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่อยู่แล้ว เอาไปปรับใช้ก็ยิ่งดี ส่วนเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ถ้าเลือกใช้ให้ถูกประเภทก็ประหยัดต้นทุนได้ พร้อมกับได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

1. Celebrity

บุคคลที่มีชื่อเสียง คนทุกเพศทุกวัยรู้จัก ยกตัวอย่างเช่น ณเดชน์ คูกิมิยะ

ข้อดี

  • โฆษณาสินค้าได้หลากหลายประเภท (สบู่ ยาสระผม สายการบิน ฯลฯ)
  • คนเกือบทั้งประเทศรู้จัก

ข้อเสีย

  • แพง (อันนี้แน่นอนอยู่แล้ว)
  • คนโดยทั่วไปจะรู้สึกว่า Celebrity ไม่ได้ใช้แบรนด์ที่ตัวโฆษณาจริงๆ กลายเป็นโฆษณาจากคนไกลตัว ไม่อิน

 

2. Trend Setter

เป็นคนที่ชอบทดลองทำอะไรใหม่ๆ แหวกแหวกแนว และสไตล์ของเขาก็เป็นที่ยอมรับจากคนจำนวนมาก

ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนที่มีคาแรกเตอร์ชัดเจน ส่วนมากคนประเภทนี้จะเป็นที่ชื่นชอบในหมู่วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (Young Adult) ซึ่งผู้ติดตามจะดูพวกเขาเเป็นแบบอย่างในการเลือกสินค้า

ตัวอย่างเช่น The Toys ด้วยผลงานดนตรีที่แหวกแนว กับสไตล์การแต่งตัวที่ดูแปลกตา มีลวดลายเยอะ ทำให้เป็นที่จับตามองและวัยรุ่นเอาเป็นแบบอย่าง เช่นมีอยู่ช่วงนึงที่วัยรุ่นหันมาใส่เสื้อฮาวายกันเต็มบ้านเต็มเมือง ก็เพราะเอาผู้ชายหน้ามึนคนนี้เป็นแบบอย่าง

ข้อดี

  • ถ้าเราเลือกสินค้าได้เข้ากับสไตล์ของเจ้าตัว คนที่อยากมีสไตล์เดียวกับเจ้าตัว ก็จะมีโอกาสซื้อของของเรามากขึ้น
  • คนจำนวนมากรู้จัก

ข้อเสีย

  • ค่าจ้างแพงอีกนั้นแหละ แต่ไม่แพงเท่าแบบแรก
  • สินค้าต้องเข้ากับสไตล์ของเจ้าตัวจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียทั้งเจ้าตัวเองและแบรนด์สินค้า
    (ลองนึกภาพ The Toy ใส่สูทธุรกิจ รับรองว่าไม่เวิร์ค ในขณะที่ Celebrity มีความกลางๆมากกว่า จะมีทางเลือกโฆษณากับสินค้าหลากหลายแบบมากกว่า)

3. Expert

ผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมีคนรู้จักมากนัก ยกตัวอย่างเช่น ดร.นิเวศน์ เหมวชิวราการ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หรือยูโกะ ยามาชิตะ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผม(ซึ่ง Sunsilk เคยดึงมาร่วมงาน)

ข้อดี

  • คำพูดมีน้ำหนัก เวลาแชร์ความรู้ สิ่งที่ Expert พูด จะฟังดูน่าเชื่อถือ

ข้อเสีย

  • คนรู้จักไม่มากนัก หากเทียบกับ 2 แบบก่อนหน้า

 

4. Thought Leader

คนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต มีบุคลิกน่าสนใจ คนในสังคมดูเขาเป็นตัวอย่างอาจเพราะอยากประสบความสำเร็จแบบ Thought Leader บ้าง

ยกตัวอย่างเช่น Elon Musk หรือถ้าเป็นคนไทยก็นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น ธนินท์ เจียรวนนท์

ข้อดี

  • คำพูดมีน้ำหนัก โน้มน้าวจิตใจลูกค้าง่าย
  • เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง

ข้อเสีย

  • ความหลากหลายของสินค้าที่เหมาะกับเขานั้นมีจำกัด เพราะคนที่ชื่นชอบ Thought Leader นั้นชื่นชอบจากความคิดในการใช้ชีวิต สินค้าจำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกับแก่นของพวกเขา การโฆษณาจึงจะส่งผลในเชิงบวก

5. Advocate

คนธรรมดาๆที่เป็นแฟนพันธ์แท้สินค้าประเภทหนึ่งอย่างจริงๆจัง และมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั้นมาก ยกตัวอย่างเช่น เหล่าสาวก Apple ที่ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าลงบน Social Network ของตัวเอง

ข้อดี

  • คำพูดดูจริงใจ เพราะเป็นสิ่งที่ออกมาจากตัวผู้ใช้งานเอง
  • ค่าจ้างถูก หรือไม่ต้องจ้างด้วยซ้ำ (เหล่าสาวกมักโฆษณาหรือปกป้องแบรนด์ด้วยใจรัก)

ข้อเสีย

  • คนรู้จักน้อย (ต้องอาศัยหลายๆคนเพื่อให้เกิด Impact)

6. Blogger/Youtuber

Blogger หรือ Youtuber จะมีความใกล้เคียงกับ Expert คือความรู้ความ
สามารถเฉพาะทางแต่ก็มีจุดต่างคือ ไม่รู้ดีเท่า Expert แต่ก็มีฐานแฟนคลับที่ชื่นชอบงานของเขา

เช่น ซาน Sunbeary ที่มักจะทำวิดีโอเกี่ยวกับอาหารการกิน ซึ่งซานไม่ใช่
คนที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอาหารเท่ากับนักชิมมืออาชีพ แต่มีประสบการณ์พอสมควร และมีบุคลิกที่น่าสนใจ เป็นที่รักของแฟนคลับ

ข้อดี

  • Blogger/Youtuber มีฐานแฟนคลับที่รักเขาอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง และหากแฟนคลับของเขาเป็นคนที่คุณอยากสื่อสารด้วยละก็ รับรองว่าเข้าเป้า!

ข้อเสีย

  • Blogger บางคนนำสินค้าของสปอนเซอร์ยัดใส่เข้าไปใน Content อย่างไม่แนบเนียน กลายเป็นพยายามขายจนเกินไป(Hard Sell) ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ย่อมส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วย

7. Nano/Micro/Macro Influencer

คนทั่วไปที่มีผู้ติดตามค่อนข้างเยอะ แบ่งคร่าวๆ ได้ประมาณว่า
Nano คือคนที่มี Follower ประมาณ 1,000 คน
Micro คือคนที่มี Follower ประมาณ 10,000 คน
Macro คือคนที่มี Follower ประมาณ 100,000 คน ขึ้นไป

ข้อดี

  • เชื่อมโยงกับคนในสังคมสูง ให้อารมณ์เหมือนเพื่อนบอกต่อ (ยิ่งใช้ระดับ Nano หรือ Micro จะยิ่งน่าเชื่อถือ และเชื่อมโยงกับคนในสังคมเฉพาะกลุ่มนั้นๆ)

ข้อเสีย

  • คนรู้จักน้อย (ต้องอาศัยหลายๆคนเพื่อให้เกิด Impact)

เทคนิคการใช้ Influencer ให้ประสบความสำเร็จ

อย่างแรกเราก็ต้องใช้ Influencer ให้ตรงจุดประสงค์แหละครับ เช่นให้คนเห็นมากๆก็ใช้ Celebrity อยากสร้างแบรนด์กับคนเฉพาะกลุ่มก็อาจจะใช้ Blogger/Youtuber เป็นต้น

นอกจากนี้เราสามารถเลือกใช้ Influncer มากกว่า 1 ประเภทได้ โดยเลือกที่มีจุดเด่นช่วยปิดจุดอ่อนของอีกประเภทหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น การใช้ Trend Setter กับ Expert ในการสื่อสารแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง คนจะรับรู้สารเยอะ เป็นผลจากข้อดีของ Trend Setter ที่มีผู้ติดตามเยอะ และจะเชื่อสิ่งที่แบรนด์พูด เพราะว่ามีผู้เชี่ยวชาญ Expert มาเป็นผู้ช่วยนำเสนอ

ลองนึกถึงแคมเปญของรองเท้า Converse ที่มี The Toys กับเซียน Converse อย่างอภิชิต วิวัฒน์เวคิน จับคู่กัน คนจะสนใจเพราะ The Toys แต่ข้อมูลเชิงลึกก็จะเชื่อจากพี่อภิชิต

หรือจะลองเอาไปคิดต่อเป็น Trend Setter + The Advocate
Celebrity + The Advocate + Micro Influencer
ฯลฯ

ทั้งหมดทั้งมวล Influencer หลายๆประเภทอาจจะมีความคล้ายคลึง หรือมีคุณสมบัติที่คาบเกี่ยวกันจนแยกกันไม่ขาด แต่นี้เป็นเพียงกรอบความคิดคร่าวๆที่ช่วยในการไตร่ตรองก่อนจะเสียเงินจ้าง Influencer

ถ้าหากเราเลือกใช้เป็น จะทั้งประหยัด แล้วยังได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

 

 

 

 

 

 

Passion in this story