เลี้ยวเข้ามาในถนนเส้นเล็ก ๆ ที่แยกมาจากถนนสิริโสธร เส้นบางปะกง-ฉะเชิงเทรา เพียงไม่กี่ร้อยเมตรเราก็พบกับอาคาร 2 ชั้น สีสันสดใสที่ด้านหน้าเต็มไปด้วยเครื่องเล่นของเด็กน้อย และทันทีที่ก้าวเท้าลงจากรถ เราก็ได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วของเด็ก ๆ ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้มาผิดที่ ที่นี่คือ “โรงเรียนสุจิปุลิ” โรงเรียนแนวคิดใหม่ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยเป้าหมายคือการสร้างความเป็นผู้นำให้แก่เด็ก ๆ และเตรียมพร้อมเพื่อดำรงอยู่ในโลกอนาคต

บรรยากาศสบาย ๆ ในเช้าวันพุธ คลอไปด้วยเสียงใส ๆ ของนักร้องรุ่นจิ๋วที่สร้างความผ่อนคลายและเสียงเจรจาต่อราคาซื้อขายของเด็ก ๆ พ่อค้าแม่ค้าตัวน้อย เพราะวันนี้มีงานถนนคนเดิน “Sujipuli Walking Street” ซึ่งไม่นานนักหลังจากที่เรายืนมองเด็ก ๆ และอมยิ้มเมื่อนึกถึงตอนที่ตัวเองยังเป็นเด็ก ครูแอน-ดร.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ ก็รีบเดินมาต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น

ครูแอนเล่าว่าตลาดย่อม ๆ ที่เราเห็นกันอยู่นี้ เป็นงานถนนคนเดินที่เด็ก ๆ คิดเริ่มต้นทำและทำงานวันนี้ออกมาด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่รับหาผู้ประกอบการว่ามีกี่ร้าน จัดบูธ จัดสถานที่ คำนวณว่ามีพื้นที่เท่าไหร่ ทำทุก ๆ อย่าง ทุก ๆ ขั้นตอน ด้วยตัวเอง 100% เด็ก ๆ ที่มาออกร้านขายของก็จะได้ฝึกเป็น entrepreneur เลยตั้งแต่เล็ก

เห็นแค่หน้าโรงเรียนเราก็รับรู้ได้เลยว่าที่นี่ต้องไม่ธรรมดา เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเราจึงชวนครูแอนไปนั่งพูดคุยเพื่อมาช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับโรงเรียนแห่งนี้

 

กิจกรรมถนนคนเดินถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของโรงเรียนรึเปล่า

ต้องบอกว่าหลักสูตรที่เราใช้ในการพัฒนานักเรียนเนี่ย เราใช้เรื่องของ 7 habits the leader in me ซึ่งเราจะไม่ได้แค่การสอน 7 habits ให้กับนักเรียนเฉย ๆ แต่เราสร้างวัฒนธรรม 7 habits ในโรงเรียน ทุกพื้นที่ในโรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ นอกจากที่เราสอนแล้ว คุณครูเป็นต้นแบบให้กับนักเรียนด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราเกิดขึ้นในวันนี้เนี่ย เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความสามารถและศักยภาพในตัวเองที่แตกต่างกัน และทุกคนเป็นผู้นำได้ ดังนั้นหน้าที่ของคุณครู คือ เป็นผู้ปลดปล่อยศักยภาพเหล่านั้นให้เกิดขึ้น แล้วถ้าเขาอยากจะเริ่มทำอะไรก็ตามเนี่ย อยากให้เขาเริ่มต้นจากตัวเขาเอง เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็คือ Changing start with me การเปลี่ยนแปลงอะไรจะเริ่มจากตัวเองก่อน แล้วก็เราพัฒนาเด็กแบบ whole shine คือเป็น whole person เลยว่า เด็กทุก ๆ คนจะมีหลาย ๆ มิติที่เขาต้องพัฒนา เราไม่ได้มองแค่ด้านวิชาการที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จในอนาคต

 

แสดงว่าสิ่งที่เราวางเป็นคอร์ส เป็นหลักสูตร แล้วก็แทรกลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนเนี่ย มันกลายเป็นกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม?

ใช่ค่ะ ก็จะเห็นว่าเขามีความมั่นใจที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ที่จะเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเด็กยุคนี้ กล้าที่จะผิดพลาด เพราะว่าไม่ใช่ทุกร้านที่มาแล้วจะประสบความสำเร็จหมด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะมีการฟีดแบค สะท้อนผลด้วยตัวเองได้ แล้วก็จริง ๆ มันเป็นเรื่องการบูรณาการการสอนหลายอย่างเลย มันเหมือนกับว่าเวลาเรียนไปเนี่ย เราไม่ได้เรียนเพื่อไปทดสอบโดยครู แต่ว่าเขาเรียนไปแล้วเขารู้ว่าสิ่งที่เขาเรียนไป สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ใช้ในชีวิตจริงของเขาได้

ชื่อโรงเรียนมาจากไหน

สุ จิ ปุ ลิ คือ หัวใจนักปราชญ์ ถึงแม้ชื่อจะฟังดูโบราณไปหน่อย (หัวเราะ) แต่แนวคิดของที่นี่คือของเก่าไม่ได้แปลว่าล้าสมัย และของใหม่ไม่ได้แปลว่าจะดีไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นสุจิปุลิคือการนำแนวคิดดี ๆ ในอดีตมาต่อยอดด้วยแนวคิดใหม่ที่มีความเป็นสากล ทำให้เราได้สิ่งที่ดีกว่าและเหมาะสมกับช่วงเวลามากกว่า

สุ ของเรามาจาก สุตะ คือ listening การสอนให้ฟัง ดังนั้นการฟังไม่ใช่แค่ฟังไปงั้น ๆ แต่ฟังด้วย empathic listening คือฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ ฟังอย่างไร ฟังแล้วไม่พอ ต้องฟังแล้วจินตะด้วย คือ คิดด้วยนะ ไม่ใช่ฟังแล้วเชื่อ แต่ต้องคิดว่าทำอะไรได้ ปุ คือ ปุจฉา เป็นเรื่องของ talking speaking เราจะสื่อสารกับคนอื่นอย่างไรให้เข้าใจ และสุดท้ายคือ ลิ มาจากลิขิต คือ การบันทึกเรื่องราว การจดโดยใช้รูปแบบที่หลากหลาย เป็น Visual Map สมัยใหม่ หรือเป็นการจดบันทึกทางอิเล็กทรอนิกส์ เขาบันทึกยังไง หรือถ้าจะบันทึกไปใช้ต่อในอนาคตเนี่ย จะทำยังไงให้เข้าใจได้มากที่สุด

 

หลักสูตรของที่นี่แตกต่างจากโรงเรียนอื่นยังไง

ที่นี่ได้นำแนวคิด 7 habits และ leader in me มาบูรณาการในหลักสูตรด้วย 7 habits เป็นแนวทางในการพัฒนาอุปนิสัยของเด็กให้เกิดขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าเด็กได้พัฒนาตั้งแต่เล็ก ๆ เนี่ย จะทำให้เขามีโอกาสในการประสบความสำเร็จในอนาคตได้ ในหลักการใหญ่เราปรับใช้เหมือนกันหมดเลยตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงประถม แต่ความลึกซึ้งของหลักสูตรจะมีความยากง่ายต่างกันตามระดับและตามบริบทการใช้ชีวิตของเด็กแต่ละระดับชั้นด้วย

อย่างเด็กเล็กจะเริ่มต้นจากการบูรณาการ เพราะที่นี่เน้นเรื่องของการบูรณาการอยู่แล้ว คือ เน้นให้เด็กรักที่จะอ่านก่อนที่จะอ่านหนังสือออก เน้นให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งแบบ pro language เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาเรียนรู้คือ เขาก็เอา 7 habits เข้าไปใช้ในประโยชน์ของเขา เช่น การบูรณาการผ่านนิทาน การใช้ชีวิตประจำวัน กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเอง การเช็คอารมณ์ตัวเอง การเก็บของเล่นให้เป็นที่เป็นทาง การเก็บกระเป๋า เก็บที่นอน รู้ว่าอะไรควรจะทำก่อนทำหลัง ซึ่งจริง ๆ แล้วเด็กเล็กจะท่อง 7 habits ได้ เราให้เขาจำ แต่ไม่ใช่แค่ท่องได้เฉย ๆ ต้องจำแล้วสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตของเขาได้ โดยคุณครูจะเริ่มบูรณาการคำง่าย ๆ เข้าไปในการเรียนการสอน มีเพลงทำนองง่าย ๆ ที่จะสอนเรื่อง pro active ซึ่งเด็ก ๆ ก็จะร้องได้และเข้าใจว่าฉันทำอะไรได้บ้าง

ในหลักสูตรเนี่ย จะเป็นแนวทางกลาง ๆ ในการนำไปใช้ แต่พอเอามาใช้จริง ๆ ก็จะมีรายละเอียดในเนื้อหาที่เราจะต้องทำให้เกิดขึ้น เช่น ส่วนของการบูรณาการในการสอน ซึ่งคุณครูก็ต้องมาวางแผนร่วมกันว่าเวลาที่จะสอน 7 habits เนี่ย เราจะสอนยังไง ซึ่งทางโรงเรียนก็จะมีแนวทางในการสอนอยู่ 2 อย่าง คือ 1. สอนเป็นวิชาเลย พอเด็กเริ่มขึ้นระดับชั้น ป.1 ก็จะเริ่มมีวิชาเรียน เราก็จะจัดให้มี 1 วิชาเลย เป็นรายวิชาเพิ่มเติม ชื่อวิชา 7 habits เลย เขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการและการนำหลักการนี้ไปใช้ในชีวิต ในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งอันนี้จะเป็นวิชาเฉพาะ

2. สอนตามรายวิชาต่าง ๆ แต่ละวิชาคุณครูบูรณาการว่าในรายวิชานี้จะสามารถนำ 7 habits มาใช้ยังไงได้บ้าง ซึ่งการสอนที่นี่เราไม่ได้ให้ครูสอนแต่ 7 habits แต่เราเริ่มต้นจากการที่ครูต้องเป็นต้นแบบก่อน ครูต้องพัฒนาตนเองก่อนเพื่อที่จะสอนเด็ก ๆ ได้ เพราะเราไม่สามารถที่จะสอนในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นได้ แล้วเราก็ได้รู้ว่าเด็กมักจะเรียนรู้จากสิ่งที่ครูไม่ได้สอนเสมอ แต่เรียนรู้จากสิ่งที่ครูเป็น ดังนั้นเราก็จะเริ่มต้นให้คุณครูรู้จักการเปลี่ยนแปลงตนเอง เข้าใจในบทบาท ใช้เอง lives with 7 habits ก่อน ถึงจะนำสิ่งนี้ไปส่งต่อให้กับเด็ก ๆ ต่อไป

“ระบบนี้ไม่ได้ทำแค่เฉพาะครูกับนักเรียน แต่ยังนำไปใช้กับผู้ปกครองด้วย เพราะฉะนั้นเราจะมีการทำงานกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด มีการเทรนนิ่งผู้ปกครองในหลักสูตร leader In me เพื่อให้เวลาที่เขากลับไปที่บ้านก็จะพูดภาษาเดียวกับลูก มาช่วยเราในการพัฒนา เรากับผู้ปกครองเป็นพันธมิตรกันในการช่วยพัฒนาเด็ก ๆ”

ทั้งนี้เรามองมันเป็นวิถีชีวิต คือทุกอย่างเรียนเหมือนเดิม เพียงแต่เรามีมุมมองในการเรียนที่เปลี่ยนไป แล้วก็มีเป้าหมายในการเรียนที่ต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าถามเด็กที่อื่นว่าทุกวันเรียนไปทำไม เขาก็จะบอกว่าเรียนไปเพื่อสอบให้ผ่าน เรียนไปเพื่อไปสอบเข้าที่อื่น เพื่อให้ได้เกรดดี ๆ แต่ที่นี่เด็กจะไม่ได้มีเป้าหมายในการเรียนแบบนั้น ถ้าถามเด็ก เด็กก็จะบอกว่าเรียนไปเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันของเขา เรียนเพื่อไปเป็นประโยชน์ของเขาในอนาคต เพราะฉะนั้นเป้าหมายในการเรียนเปลี่ยน วิธีในการเรียนก็เปลี่ยน ความสุขในการเรียนก็เกิด แล้วพอเด็ก ๆ มีอุปนิสัยที่ดี ด้านวิชาการก็จะตามมาเอง เพราะจริง ๆ แล้วผลการทดสอบในระดับนานาชาติหรือ O-Net เด็กก็สอบออกมาได้คะแนนดี เพียงแต่ว่าวิธีในการเรียนจะไม่เหมือนกัน

แล้วมีขั้นตอนในการเทรนครูยังไงบ้าง

ต้องบอกว่ากระบวนการเทรนครูเนี่ย เป็นกระบวนการต่อเนื่อง เราไม่ได้เทรนเสร็จ รับมาเป็นครูแล้วจบ แต่เราจะมีการประชุมคุยกับครู ก่อนที่ครูจะสอนจะต้องมีการพูดคุยกันก่อน มีการแบ่งปันในเรื่องของการนำ 7 habits ไปใช้ในชีวิตของคุณครูด้วย ในการเรียนการสอนด้วยแล้วมันเกิดผลยังไง ซึ่งจริง ๆ แล้วพอคุณครูเอาไปใช้และเห็นเด็ก ๆ เปลี่ยนไป เวลามาแชร์กันเราจะเห็นเลยว่าครูคนอื่น ๆ ก็จะเริ่มมีพลังในตัวเองที่จะเอาไปทำบ้างเพื่อให้เกิดผล

เราเริ่มต้นให้ครูมีเพดานความเชื่อพื้นฐานตามหลักการที่เหมือนกัน เช่น คุณต้องเชื่อว่าเด็กทุกคนเป็นผู้นำได้ เพราะเราเชื่อว่ากรอบความคิดจะส่งผลต่อการกระทำ แล้วมันคือสิ่งที่เราได้รับ เพราะฉะนั้นถ้าครูคิดว่าเด็กบางคนเท่านั้นที่เป็นผู้นำได้ ครูก็จะเริ่มเลือกว่าเด็กคนไหนทำหน้าที่ไหน เป็นคนจัดการ แต่ถ้าเราเชื่อว่าเด็กทุกคนเป็นผู้นำได้ บทบาทตรงนี้ก็จะเปลี่ยนไป จะกลายเป็นรูปแบบของการอาสา เพราะเด็กทุกคนก็จะได้โอกาสในการอาสาในการทำสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง

 

หลักสูตรการเรียนการสอนเนี่ยพัฒนาขึ้นมาเองเลยรึเปล่า

หลักสูตรนี้พัฒนาโดยต่างประเทศ และผู้รับลิขสิทธิ์ในประเทศไทยคือ pacrim ซึ่ง pacrim ก็จะมีหนังสือเรียนเป็นชุดไกด์ไลน์หนังสือเรียนให้เด็ก ๆ เลย เป็นคู่มือในการเรียนการสอนของ 7 habits แล้วจากคู่มือนี้โรงเรียนสามารถต่อยอดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเอามาสอนก็จะมีหลักการที่เป็นกลาง ๆ ในขณะเดียวกันโรงเรียนก็จะเติมกิจกรรมที่คิดว่าเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนลงไป ทั้งนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท pacrim เข้ามาเป็นไกด์ เป็นโค้ช มาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมให้ว่าโรงเรียนต้องพัฒนาต่อยอดยังไงได้บ้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่องได้จริง และสามารถต่อยอดในอนาคตได้

 

ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของหลักสูตรที่ใช้อยู่เป็นยังไงบ้าง

จริง ๆ เราอาจจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ในการพิสูจน์ตัวเองอีกนิดนึง เพราะโรงเรียนเพิ่งเปิดมา 2 ปีเอง เพื่อให้เห็นว่าลักษณะของการเรียนแบบนี้ไม่ได้ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เพียงแต่ว่าเรามีมุมมองในการพัฒนาเด็กในหลาย ๆ มิติ

 

แปลว่าการวัดผลที่นี่ก็จะต้องมีมากกว่าโรงเรียนอื่น ๆ เพราะนอกจากจะต้องวัดผลการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ยังจะต้องมีการวัดผล 7 habits และการพัฒนาตัวเองมาเกี่ยวข้องด้วยรึเปล่า

เวลาเราประเมินผลเด็กเนี่ย เราประเมินพัฒนาการ ไม่ได้ประเมินเพื่อตัดสินว่าเขาได้เกรดอะไรเท่านั้น เพราะฉะนั้นพอประเมินพัฒนาการปั๊ป เราก็จะเห็นว่าเด็กมีพัฒนาการในตัวเอง แต่ในพัฒนาการของเขาก็จะแตกต่างกันในหลาย ๆ มิติ เราประเมินเขาในลักษณะนั้นด้วยควบคู่กัน

จริง ๆ ก็มีเกรดด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราให้ความสำคัญกับเกรดทีหลัง เราให้ความสำคัญกับพัฒนาการระหว่างทางของเด็กมากขึ้น สิ่งที่เขาตั้งเป้าหมายและเขาทำได้ วิธีการในการได้มาซึ่งความสำเร็จมากกว่าความสำเร็จที่ได้รับ

 

ย้อนกลับไปถึงการเอา 7 habits อุปนิสัย 7 ประการของผู้นำมาใส่ไว้ในหลักสูตร อย่างเด็กเล็ก ๆ เด็กเตรียมอนุบาลไปจนถึงเด็ก ป.6 เนี่ย เราสอนเขายังไงให้รู้เรื่อง 7 ข้อนี้

ทุกห้องจะมีต้นไม้นะคะ โดยที่สไตล์ของต้นไม้เด็ก ๆ ก็จะช่วยทำ คุณครูก็จะช่วยทำ ซึ่งก็จะแตกต่างกันไป แต่คอนเซปต์สำคัญของต้นไม้เนี่ย ให้เห็น 3 พาร์ทใหญ่ ๆ ของ 7 habits เช่น habit 1 จะเป็นเรื่องของการจัดการตัวเอง เป็นการชนะตัวเอง ซึ่งก็จะเน้นมี pro active ที่ควบคุมตัวเอง เลือกแล้วรับผิดชอบ เป็นผู้นำ โฟกัสที่วิธีการแก้ปัญหามากกว่า ส่วน habit 2 เป็นเรื่องของการตั้งจุดมุ่งหมายในใจ habit 3 เป็นการทำสิ่งที่สำคัญก่อน ให้เขาคิดเองว่าจะทำอะไรก่อนหลัง สำหรับเด็กเล็ก ๆ เนี่ย มันอาจจะฟังดูยาก แต่ว่าพอเราเอามาประยุกต์ใช้กับเด็กอนุบาลเนี่ย ทำยังไงให้เด็กมี pro active เขารู้จักจัดการอารมณ์ตัวเองไหม เช่น ตอนนั้นอารมณ์ร้องไห้ ไม่อยากเรียน เขาจะจัดการยังไง เขารู้ตัวไหม ตอนนี้โกรธเพื่อนจะทำยังไง ถ้าโกรธแล้วจะมีวิธีการจัดการกับความโกรธเขายังไงได้บ้าง รวมไปถึงเล่นของเล่นแล้วเก็บ อ่านหนังสือแล้วเอาไปเก็บ การเก็บที่นอน ช่วยเหลือตัวเองได้ รับผิดชอบ มีวินัย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราใส่เขาไปในระดับเล็ก ๆ

การบ้าน­ของที่นี่จะเป็นการบ้านร่วมกันของผู้ปกครองกับเด็ก ๆ ในแต่ละวันเด็กจะเลือกหนังสือนิทานกลับบ้านหนึ่งเล่ม โดยให้พ่อแม่อ่านให้ฟังเสร็จแล้วเขาก็จะมาสรุป วาดรูป สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนั้น ๆ ซึ่งการบ้านแต่ละคนก็จะแตกต่างกัน ในขณะเดียวกันเราจะมีเป้าหมายใหญ่ที่เน้นเรื่องการอ่านในระดับเด็กเล็ก พอเขาอ่านได้กี่หน้าเขาก็จะมาทำตารางคะแนนของห้องตัวเอง เพื่อจะดูว่าตอนนี้เขาอยู่เลเวลตรงไหน แล้วส่วนที่เขาทำก็จะไปโผล่ที่ตารางคะแนนใหญ่ของโรงเรียน

พอเขามีชัยชนะส่วนตนแล้ว เขาก็จะเริ่มต้นทำงานกับคนอื่น เป็นชัยชนะส่วนรวม คือ habit 4 สอนให้เด็กคิดแบบชนะ-ชนะ คิดถึงคนอื่น กล้าที่จะใส่ใจความรู้สึกของคนรอบข้าง และกล้าที่จะบอกความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเองด้วย

Habit 5 ‘seek first to understand then to be understood’ คือ การฟังคนอื่นให้เข้าใจก่อน ก่อนที่อธิบายให้คนอื่นเข้าใจ habit 6 Synergize คือ การผนึกพลัง ประสานความต่าง การเห็นคุณค่าในความแตกต่าง

Habit 4-6 คือการทำงานเป็นทีม โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้สึกแย่ที่อยู่ตรงนั้น ทำยังไงให้อยู่ได้อย่างมีความสุข รู้ว่าเพื่อนมีความแตกต่างหลากหลาย เราจะทำยังไงให้เอาความแตกต่างนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

จริง ๆ พอเด็กเริ่มโต เริ่มประถม 6 เขาจะเห็นความสำคัญของ Habit 4-6 มากขึ้น อย่าง Habit 6 เขาเริ่มเห็นเรื่องของการฟังเสียงส่วนน้อย ทำยังไงให้ทำงานร่วมกันแล้วเห็นคุณค่า แล้วมันออกมาดีขึ้นกว่าเดิมได้ ซึ่งจริง ๆ เราก็จะมีกิจกรรมเยอะมากที่เราเห็นการทำงานแบบรวมพลัง หรือการหาทางเลือกที่ 3 ของเด็ก ๆ เกิดขึ้นระหว่างทาง

สุดท้ายจะเป็น Habit 7 ‘Sharpen the saw’ คือ การรักษาสมดุลในมิติของเขา เช่น ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านจิตวิญญาณ และสติปัญญา เหมือนกับเขาต้องรู้ตัวเองว่าถ้าเรามีเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ ก็ต้องมีการฝึกซ้อมเพื่อให้พัฒนาขึ้นและทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ ในเด็กเล็กก็จะเป็นเรื่องการการกินอาหารที่มีประโยชน์ การดูแลตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ การเติมความรู้ ทำยังไงให้ตัวเองมีความสุข การมีจิตอาสาผู้อื่นได้บ้าง เขามีประโยชน์กับผู้อื่นได้อย่างไร ก็จะอยู่ใน Sharpen the saw หมดเลย

 

สิ่งที่โรงเรียนสุจิปุลิอยากเห็นในระยะยาวจากการเรียนการสอนแบบนี้ เราอยากเห็นเยาวชนไทยเป็นยังไง

วิสัยทัศน์ของโรงเรียนเราเลย ต้องการสร้างเด็กให้มีสมรรถนะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกอนาคตได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็น Key Success ของโรงเรียนไม่ใช่แค่จบจากที่นี่แล้วไปสอบต่อเข้าที่ไหนเท่านั้น แต่เรามองไปถึงชีวิตในอนาคตของเขาด้วยว่าถ้าต่อไปเขาจะทำงาน เขาจะมีความสุขกับงานไหม เขาจะรักไหม เขาจะอยู่รอดได้ไหม  เพราะเราเชื่อว่าถ้าเขาได้ทำงานที่เขารัก ทำงานที่เขาถนัด ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร เขาจะสามารถฝ่าฟันแล้วเขาก็จะมีความสุขไปตลอดชีวิต ดังนั้นเรากำลังทำงานกับช่วงชีวิตที่เหลือของเขาหลังจบการศึกษาด้วย ไม่ใช่แค่ระหว่างการศึกษาเท่านั้น

เราเชื่อเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาจจะมองไม่ได้ว่าเด็กคนจะเป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่าถ้าเด็กพัฒนาไปในแนวนี้ไปเรื่อย ๆ อนาคตเขาก็จะทำงานได้อย่างมีความสุขเหมือนกัน ถ้าวันนี้เขามีความสุขกับชีวิต ในขณะที่เขารู้ว่ามีอะไรที่ต้องพัฒนาต่อ เขาก็สามารถพัฒนาตัวเองต่อไป เจอความท้าทายในโลกที่มันแปรปรวน เราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง แต่เขาจะพร้อมที่จะฝ่าฟันปัญหา ปัญหาใหม่ ๆ ที่เข้ามา เขาไม่เคยเจอ เขาก็จะสามารถฝ่าฟันไปได้ นี่คือลักษณะของการฝึกการเรียนรู้พัฒนาการของเขา ความสำคัญอยู่ที่วิธีการแล้วผลลัพธ์ที่ดีจะตามมาเอง


Category:

Passion in this story