ถ้าองค์กรคุณประสบปัญหาสมองไหลดึงดูดคนเก่งไว้ในองค์กรไม่ได้ ลองดู 7 เคล็ดลับที่ช่วยเพิ่มความสุขให้พนักงาน เพื่อให้เขาทำงานแบบถวายหัว

สิ่งเล็ก ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงพนักงานของคุณให้เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุข และพร้อมจะทำงานหนักให้องค์กร มีผลการศึกษาจำนวนมากที่ระบุว่า พนักงานที่ทำงานด้วยความสุขจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กรได้มาก และเมื่อไหร่ที่ความสุขห่างหายไปจากองค์กรแล้ว จะเป็นช่วงที่ยากลำบากเช่นกัน

หลายองค์กรในประเทศประสบปัญหาการจัดการคนภายในองค์กร องค์กรขนาดกลางและเล็กที่ต้องเผชิญกับภาวะสมองไหล คนเก่งหนีหายไปอยู่องค์กรขนาดใหญ่ ส่วนคนที่มีอยู่ก็สร้าง Productivity ไม่ได้อย่างที่ต้องการ และบ่อยครั้งที่พนักงานสะท้อนความทุกข์ออกมาในการทำงานและผลงานที่ด้อยลงทุกวัน เหมือนนั่นเป็นวันสุดท้ายของโลก

แต่รู้หรือไม่ว่า ปัญหาที่หลายองค์กรต้องเผชิญนั้น สามารถแก้ไขได้ง่ายนิดเดียวเพียงแค่เข้าใจแนวทางในการบริหารความสุขของพนักงาน เช่น การ Set Carrier Part ให้ชัดเจน  ผลตอบแทน ระบบการสื่อที่ชัดเจน เป็นต้น passion gen รวบรวมแนวทางสร้างความสุขให้กับพนักงานได้ทั้งหมด 7 ประการดังนี้

1. กำหนดวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ธุรกิจให้ชัดเจน

การกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ จะส่งผลโดยตรงให้พนักงานในองค์กรสามารถวางแผนและกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น

และการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนยังช่วยให้การทำงานมีระบบระเบียบ และมีพลังในการมุ่งสู่เป้าหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังช่วยให้พนักงานไม่เลื่อนลอย มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน พนักงานจะรู้ว่าพวกเขาจะมีส่วนช่วยให้สินค้าและบริการขององค์กรก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร เปรียบเสมือนการฉีดน้ำผ่านสายยางย่อมมีโอกาสถูกเป้าได้แม่นยำกว่าการสาดน้ำ

การทำงานอย่างไร้จุดหมาย เป็นส่วนสำคัญที่บั่นทอนกำลังใจในการทำงานของพนักงาน

บทความที่น่าสนใจ : 4 กลวิธีทำให้พนักงานกลายเป็นสมบัติล้ำค่าขององค์กร

2. บรรยากาศการทำงานที่โปร่งใส

เช่นเดียวกันกับในเรื่องวิสัยทัศน์ แนวนโยบายขององค์กรจะต้องมีความโปร่งใส การดำเนินนโยบายที่คลุมเครือ บรรยากาศที่อึมครึมก่อให้เกิดความเครียด ความไม่สบายใจในองค์กร  การไม่สื่อสารถึงสถานะที่ถูกต้อง การปล่อยให้เกิดข่าวลือ ข่าวลวง ความกลัวต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ จะมีผลโดยตรงต่อความสุขของพนักงาน ดังนั้น การแจ้งข่าวในแนวนโยบาย จึงส่งผลโดยตรงกับความสุขและประสิทธิภาพ

3. ให้เวทีพนักงานแสดงศักยภาพ

เพราะพนักงานยุคใหม่ต้องการแสดงออกถึงความสามารถ ผู้บริหารที่ชาญฉลาดจึงต้องดึงศักยภาพพวกเขา โดยการให้เวทีในการพิสูจน์ฝีมืออย่างเป็นขั้นเป็นตอน การได้ใช้ความสามารถทำงานที่ท้าทาย จะทำให้พวกเขามีความสุขสนุกกับการทำงาน ทำงานหนักขึ้นและรักองค์กรมากขึ้น

เคล็ดลับเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้คุณรักษาคนเหล่านี้ไว้ได้ คือ ต้องแสดงออกให้พวกเขารู้ว่า องค์กรมีความผูกพันกับพวกเขา และพวกเขามีความสำคัญอย่างไรกับองค์กร การใส่ใจกับเรื่องเล็ก ๆ ของพนักงานจะทำให้พวกเขาอยู่กับองค์กรในระยะยาว อาจจะมีเค้กสักชิ้นหรือเนคไทสักเส้นในวันเกิด


 

ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

 

 

ชีวิตมันไม่ใช่แค่ทำงานอยู่ไปวัน ๆ เพื่อเงินเดือน อดทนกับสถานที่หรือเจ้านายที่คุณไม่ชอบ คิดเพียงว่าอย่างน้อยก็มีงานทำ มันไม่ใช่ คนยุคใหม่เขาเชื่อในสิ่งที่ทำ มองหาความหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ไม่มองแค่เงินเดือนเป็นหลัก แต่เริ่มมองไปถึงสังคม สถานที่ทำงาน เเละเลือกทำอะไรที่มีความหมายกับโลกใบนี้มากขึ้น” 

 

 

 

 

 


4. อนุญาตให้พนักงานออกแบบเวลาทำงานเอง

09.00-17.00 เป็นกรอบขนาดใหญ่ที่ปิดกั้นศักยภาพการทำงานของพนักงาน ถ้าคนกลุ่มนั้นเป็นพนักงาน Back Office การกำหนดเวลาทำงานตาม Office Hour เป็นเรื่องปกติ แต่หากเป็นพนักงานที่ต้องการกลุ่มที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การเปิดโอกาสให้พนักงานออกแบบเวลาในการทำงาน กลับช่วยให้เขาดึงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่

ปัจจุบันบริษัทชั้นนำและสตาร์ตอัปหลายแห่งในประเทศ ได้ปรับวัฒนธรรมองค์กรและเวลาในการทำงานให้ยืดหยุ่นเข้ากับไลฟ์สไตล์ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น

บทความที่น่าสนใจ : “ออกไปทำอะไรด้วยกัน” ช่วยซื้อใจพนักงานให้อยู่กับองค์กรนาน ๆ

5. Work From Home

ผลจากโควิด-19 ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ได้เรียนรู้ว่าการ Work From Home ไม่ได้มีผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างที่กังวล การเพิ่มตัวเลือกให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน จึงเป็นแนวคิดที่ดีในการเพิ่มความสุข การไม่ต้องฝ่าฟันการจราจรในช่วงเช้าช่วยให้พนักงานมีความสุขกับชีวิตที่สโลว์ไลฟ์มากขึ้น แม้ต้องแลกกับการประชุมผ่าน Zoom เกือบทั้งวันก็ตาม

6. ลดการประชุมที่ไม่สำคัญ

ทุกการประชุมพนักงานจะต้องใช้พลังงานและเวลาอย่างมาก การประชุมที่มากเกินไปจะทำให้สูญเสียเวลาในการทำงานไปอย่างสิ้นเปลือง ทำให้พนักงานต้องทำงานล่วงเวลา ทำงานชดเชยอย่างไม่จำเป็น และยังเป็นการเพิ่มความเครียดให้พนักงาน

การลดการประชุมให้เหลือเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การประชุมเป็นเวทีสำคัญในการแสดงออกถึงผลงาน จึงต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้พูดคุยถึงผลงานอย่างทั่วถึง ภายใต้การควบคุมเพื่อให้เกิดการประชุมอย่างสร้างสรรค์

บทความที่น่าสนใจ : องค์กรจะปัง หรือ พัง อยู่ที่ EI ของพนักงาน

7. ยืดหยุ่นในเรื่องการแต่งกาย

อีกวิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างความสุขให้พนักงาน คือ การปลดล็อกชุดยูนิฟอร์ม อนุญาตให้พนักงานแต่งตัวตามสบายบ้าง อาจจะเป็น 1-2 วันในสัปดาห์หรือมากกว่านั้น การแต่งตัวตามสบายจะเป็นการผ่อนคลาย ปลุกจินตนาการ และสร้างความสุขให้พนักงานได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย

เคล็ดลับ 7 ประการนี้ องค์กรสามารถเลือกทำเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ย่อมได้ มาตรการบางอย่างทำได้ง่าย ๆ ก็สามารถเริ่มทำได้ทันที ส่วนที่ยากกว่าก็ค่อยปรับค่อยเปลี่ยนไป สุดท้ายได้ลองทำแล้ว พนักงานมีความสุข จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน


Passion in this story