เกษตรกรเป็นอาชีพหลักของคนไทยมาช้านาน ประชากรกว่า 60% อยู่ในภาคเกษตร สร้าง GDP ไม่น้อยกว่า 36% แต่ในปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรเหลือเพียงแค่ 30% แต่มีบทบาทต่อการสร้าง GDP เพียง 9% นั่นสะท้อนว่าภาคเกษตรของไทยกำลังหดตัวลงเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหรรมและบริการที่เข้ามาแทนที่

.

อย่างไรก็ตาม เกษตรกร ยังคงเป็นอาชีพหลักของใครหลายคน และแม้จะมีความเชื่อว่า เกษตรกรเป็นอาชีพที่ยากจน แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อิสราเอล สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เกษตรกร เป็นอาชีพที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี เขาคิดอย่างไร ทำอย่างไร บุรินทร์เจอนี่ ชวนคุณไปติดตามกัน

.

ก่อนหน้านี้ บุรินทร์เจอนี่ได้เสนอเรื่องวงจรถดถอยของเกษตรกรและหนทางออกจากกับดัก ซึ่งควรจะอ่านและทำความเข้าใจกับปัญหาก่อนรู้ว่าจะรอดพ้นจากกับดักได้อย่างไร… ซึ่งหนึ่งในทางออกที่สำคัญคือ นวัตกรรม หรือที่เรียกว่า เกษตรปราณีต

.

เกษตรปราณีต คือ เกษตรที่นำนวัตกรรมมาช่วยในการเก็บสถิติ ข้อมูล คิด และวิเคราะห์ ภายใต้จุดมุ่งหมายว่า ทำอย่างไรจึงจะทำเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ได้ผลผลิตที่มากในต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งใกล้เคียงกับสตาร์ทอัพในกลุ่ม AgriTech ที่ต้องการนำนวัตกรรมมาพัฒนาการเกษตรเช่นกัน

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำบทวิจัยเรื่อง AgriTech พลิกโฉมอนาคตเกษตรไทย ระบุว่า หลายประเทศมีการนำ AgriTech ซึ่งมีหลักการทำงานผ่าน IoT และ Big Data มาช่วยทำการเกษตรอย่างแพร่หลาย โดยมีแรงผลักดันมาจากข้อจำกัดด้านการเกษตรอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งแม้ปัจจุบัน AgriTech ในไทยจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าจะมีบทบาทมากขึ้น จากราคาเทคโนโลยีที่ถูกลงและความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ AgriTech ทุกระดับตั้งแต่เกษตรกรรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ และบริษัทขนาดใหญ่นำ AgriTech มาใช้ทั้งในพื้นที่ขนาดใหญ่และพื้นที่ที่จำกัด 

ทั้งนี้ AgriTech ในพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น โดรนเพื่อการเกษตร, เครื่องกำจัดวัชพืชควบคุมด้วยระบบ GPS, รถแทรกเตอร์อัตโนมัติติด GPS, เครื่องเก็บเกี่ยวอัตโนมัติ, เซนเซอร์ เป็นต้น น่าจะมีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากราคาขายพืชที่ไม่จูงใจนักและต้องคำนึงถึงการประหยัดต่อขนาดร่วมด้วย สำหรับ AgriTech ในพื้นที่ที่จำกัด เช่น โรงงานผลิตพืช (Plant Factory), Green House, Low-Tech Plastic Hoop House, Container Farm, Indoor Deep-Water Culture เป็นต้น น่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมีมูลค่าเพิ่มสูง

.

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า AgriTech ในพื้นที่ที่จำกัด เป็นรูปแบบการเกษตรมที่เหมาะสมกับการพัฒนาในประเทศไทย เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง และสามารถเอาชนะข้อจำกัดของสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มรูปแบบ อันจะเป็นการยกระดับเกษตรกรไทยไปสู่นักธุรกิจเกษตรที่สามารถควบคุมการผลิตได้อย่างแม่นยำ ขายสินค้าได้คุณภาพและราคาดี ไม่ต้องเผชิญความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่อิงกับตลาดโลก ลดการพึ่งพามาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าจากภาครัฐ และสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนด้านวัตถุดิบและความสมดุลของสิ่งแวดล้อมตามกรอบโมเดลเศรษฐกิจใหม่ แต่เงื่อนไขความสำเร็จ จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ภาพตลาดหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ระบบโลจิสติกส์ตลอดสายการผลิต ความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ทำเลที่ตั้ง ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรในระยะยาว

.

Passion Talk ได้เคยสัมภาษณ์ กฤษณะ ธรรมวิมล ในเรื่อง “Plant Factory พลิกชีวิตชาวสวนสู่เศรษฐีเงินล้าน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการทำเกษตรในแบบของอุตสาหกรรม เน้นการผลิตปริมาณมาก และควบคุมสภาพแวดล้อม ติดตามได้ที่ลิงค์นี้

เกษตรปราณีต หรือเกษตรนวัตกรรมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการออกจากกับดักความยากจน ซึ่งการทำเกษตรแบบใหม่นี้ เน้นการใช้ความรู้ในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้การเกษตรรูปแบบใหม่ที่สามารถวัดผลได้ เพื่อควบคุมตัวแปรต่างๆ ให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การเกษตรแบบนี้จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องหาความรู้เพิ่มเติมให้มาก เพื่อเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเกษตรรูปแบบเดิมที่ทำอยู่  และยังต้องศึกษาปรับปรุงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทดลองเรียนรู้ เพื่อให้ได้รูปแบบที่ดีที่สุด

Passion in this story