พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลา2 ปีเศษ ผนวกกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นอิทธิพลกดดันต่อธุรกิจเหมือนสึนามิที่พัดเข้าฝั่ง ทุกบริษัท ทุกธุรกิจจึงต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อความอยู่รอด ต้องขบคิดตีโจทย์กันใหม่ว่า เราจะรอดในกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร?

 

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตซ้อนทับ ทั้งเงินเฟ้อ สงคราม ของแพง และเศรษฐกิจถดถอย….เราจะอยู่รอดอย่างไร จะเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในสมรภูมิที่ซับซ้อนวุ่นวายนี้ได้อย่างไร…

 

วันนี้ Passion gen ได้รับโอกาสเข้าสัมภาษณ์ อโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร ตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชียและกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ภูมิภาคเอเชียใต้ เดลล์ เทคโนโลยีส์ กูรูคนหนึ่งแห่งวงการไอที ที่เกาะติดความเปลี่ยนแปลงทุกกระแสที่ไม่ใช่แค่ของไทย แต่มองรวมไปถึงเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงทั่วเอเชีย

 

โลกใน 100-200 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในโลกนี้มากที่สุด คือ พลังงาน ตั้งแต่การพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำ จนถึงไฟฟ้า พลังงานส่งผลกระทเชิงบวกต่อการพัฒนาการของโลกมนุษย์ อย่างก้าวกระโดด แล้วจากนี้เป็นต้นไปหล่ะ… อะไรจะมีอิทธิพลกับเราแบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้น คำตอบก็คือ Digital Evolution และ Digital Technology

 

ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ในปี 2018-2019 โลกมีการพูดถึงยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น เรื่องของ Digital Transformation, Digital Revolution และ Thailand 4.0 ที่คาดว่าจะเกิดเต็มตัวในปี 2030 นั่นคืออีก 8 ปีข้างหน้า แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเร่งให้ทุกอย่างหดสั้นลงจาก 2030 เป็น 2023 ทั้งนี้เพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการยอมรับและใช้งานเทคโนโลยีด้วย โควิด-19 จึงเป็นตัวขับเคลื่อน ให้เทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดด เราอยู่ในฐานะจำเป็นที่จะต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Learning from Home, Work from Home หรือพวก Digital Business ดังนั้น Digital Revolution หรือ Digital Evolution เกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วจะขับเคลื่อนโลกใบนี้จากปีนี้เป็นต้นไป

 

ตัวแปรสำคัญในโลกของ Digital Revolution นี้คือ DATA ในหลายปีที่ผ่านมา เราพูดถึงข้อมูลที่มีในโลกขนาด 30-50 เซตะไบต์ (ZB) เรามองล่วงหน้าไปถึงปี 2025 จาก 50 ZB จะเพิ่มเป็น 175ZB ซึ่งเป็นข้อมูลปริมาณมหาศาล ข้อมูลที่มากขบนาดนี้เอาไปใช้ทำอะไร?… ข้อมูลมหาศาลเป็นโอกาสที่มหาศาลเช่นกัน หัวใจจึงอยู่ที่องค์กรไหนสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ นำ AI, Machine Learning มาใช้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็จะเพิ่มขีดความสามารถและความได้เปรียบในการแข่งขันได้  ดังนั้นต่อไปคือ ยุคของ DATA และ DATA เป็น Core ของ Digital Evolution โดยมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Emerging Technologies มาเป็นตัวผนวก ทำให้เราสามารถใช้เดต้าได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ต่อการบริหารจัดการประเทศ

 

2 ปีที่ผ่านมาอย่างประเทศไทยเราเอง รัฐบาลมีการนำเทคโนโลยีมาให้บริการประชาชนเยอะมาก เพราะเราอยู่ในสภาวะล็อกดาวน์ แอปเช่น เป๋าตัง หมอพร้อม ไทยชนะ หรือแอป ePayment ที่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีให้หลายประเทศนำไปพัฒนาเช่นเดียวกัน ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาก เราชำระเงินผ่าน QR Code จนเป็นเรื่องปกติ ePayment ในบ้านเราเบ่งบานมาก

ในมุมของเอเชีย ศักยภาพของเอเชียเป็นอย่างไร

เอเชียมีความได้เปรียบอยู่ 2 ประการจากโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้น

 

ประการแรก ตอนนี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดของเอเชีย จากเดิมเอเชียคือ ประเทศที่ยากจน แต่ 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนรายได้ปานกลางในเอเชียเติบโตขึ้นอย่างมาก ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก เป็นกลุ่มที่เกิดกลุ่มคนรายได้ปานกลางมากที่สุด และกลุ่มคนรายได้ปานกลางเหล่านี้แหละเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในยุคใหม่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ดี  

 

ประการที่สอง ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี สมัยก่อนเอเชียเป็นผู้ตามในเรื่องเทคโนโลยี ปัจจุบันเทคโนโลยีเกิดขึ้นในเอเชียเยอะมาก โดยเฉพาะโลกของซอฟต์แวร์ วันนี้ซอฟแวร์กุมบังเหียนโลกอยู่ ทุกอย่างเป็นซอฟต์แวร์หมดเลย และการพัฒนาซอฟต์แวร์ สกิลของแรงงานมีความสำคัญ ปัจจุบันคนเก่งในการสร้างแอปพลิเคชัน สร้างซอฟต์แวร์ อยู่ในฝั่งเอเซียแทบทั้งหมด ทั้งอินเดีย จีน ไทย เวียดนาม ประเทศเหล่านี้มีนักพัฒนาที่เก่งระดับโลก วันนี้โลกจึงหมุนมาทางเอเชีย ทั้งเรื่องความพร้อม เรื่องของสกิล และศักยภาพ ในเพราะฉะนั้นเอเชียมีโอกาสในการเติบโตค่อนข้างสูง

 

ถ้ามองให้กว้างนิดหนึ่ง เราอาจจะรู้สึกว่าในกลุ่มเอเชียมีประเทศใหญ่ๆ ที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีมานานหลายปี เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ แต่พอมองในภาพรวมแล้ว มันก็ยังมีช่องว่างอยู่ ผมเองดูแลประเทศในเอเชีย 28 ประเทศ แต่ละประเทศก็มีการพัฒนาที่ต่างกัน บางประเทศเป็นผู้เริ่มต้น บางประเทศไปไกลแล้ว ตรงนี้เป็นช่องว่างที่ต้องเร่งลด ประเทศต่างๆ ก็ต้องพัฒนาขึ้นมาให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น ก็จะทำให้เอเชียเกิดศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างเยอะ

 

งานวิจัยของ IMF Asia Digital ระบุว่าเอเชียจะได้รับประโยชน์มากมายจาก Imaging Technology  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AI, Machine Learning, Fintech, Crypto Currency และ BIG DATA  เหล่านี้จะทำให้เอเชียแข็งแกร่ง เพราะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้เร็ว และเอเชียมีกลุ่มคนรายได้ปานกลางมาก มีการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นเราจะเป็นกลุ่มประเทศที่จะได้อานิสงส์จาก Digital Evolution มากที่สุด

 

ถามว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน?…..

 

ผมอยากให้สะท้อนภาพจากเรื่องของ eCommerce เพราะ eCommerce เป็นตัวชี้วัดที่ตอบโจทย์ได้ดีในเรื่องของ Digital Evolution แค่มีเทคโนโลยียังไม่พอ ต้องมีความพร้อมของคนในประเทศในการเปิดรับเทคโนโลยีด้วย

 

 10 ปีที่แล้วประเทศจีนมีสัดส่วนธุรกิจ eCommerce ประมาณ 1% ของโลก แต่วันนี้สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 40% ประเทศไทยเองถูกจัดอันดับอยู่ที่อันดับที่ 22 ในสัดส่วนธุรกิจ eCommerce ซึ่งไม่น้อยเลย  เรามีรายได้ที่เกิดจาก eCommerce ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพสะท้อนของประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรในประเทศ เมื่อไหร่ที่ระบบนิเวศพร้อม เราพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

 

ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ Fintech มีการเติบโตในระดับสูง ทั้งในเรื่องของกฎหมาย องค์กรต่างๆที่ออกมาผลักดัน ความพร้อมของคนในชาติ แต่ต้องมองข้ามเรื่องความผันผวนของตลาด Crypto Currency ไปก่อนะครับ ให้มองไกลๆว่าอัตราการตอบรับต่อดิจิทัลของไทยค่อนข้าสูง และเติบโตเร็วมาก

 

การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย

2 ปีที่ผ่านมาเรามีการทำวิจัย Data Paradox เพื่อวัดดูความสามารถขององค์กรธุรกิจในแต่ละประเทศว่า มีความสามารถในการจัดการข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลได้ดีพอหรือไม่ โดยทำการศึกษาจาก 45 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ปรากฎว่า 67% ของธุรกิจในประเทศไทย ยอมรับว่าธุรกิจมาถึงจุดที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการดำเนินธุรกิจ (Data Driven Business) คือ ขาดข้อมูลไม่ได้เลย ขาดข้อมูลเท่ากับว่าตัดสินใจไม่ได้ ตัดสินใจไม่ได้อาจจะทำธุรกิจบางอย่างไม่ได้ หรือว่าจะตัดสินใจผิดพลาด แต่มีเพียง 12% เท่านั้นที่ปฏิบัติต่อข้อมูลเสมือนเป็นต้นทุนสำคัญทางธุรกิจ นำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่อื่นในธุรกิจเดียวกัน

 

จาก 67% เหลือแค่ 12% แสดงว่าที่เหลือยังมีโอกาสอยู่ เรารู้ว่าข้อมูลสำคัญ เราเก็บข้อมูล แต่เรายังเอาไปใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ไม่เต็มศักยภาพ 95% ของธุรกิจยังไม่มีเทคโนโลยีหรือมีแต่น้อย และขาดกระบวนการจัดการที่ดี ขาดบุคลากรผู้ชำนาญการ

 

การจะนำ DATA มาใช้ได้ดีนั้น ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ Technology Process และ People ในยุคของDigital Evolution จะมี  DATA เป็นศูนย์กลาง เหมือนพลังงาน ดังนั้นแม้องค์กรมี DATA แต่ขาดเทคโนโลยี ขาดกระบวนการจัดการที่ดี ขาดนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ก็เหมือนกับมีพลังงานแต่เอาไปใช้ไม่ได้ ดังนั้นแล้วจึงมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็น DATA Champions ที่มีการใช้ Technology Process และ People อย่างยอดเยี่ยม

 

ผลสำรวจยังระบุว่า 73% ขององค์กรมีระบบที่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างดีเยี่ยมแต่ขาดข้อมูล เพราะแต่ก่อนข้อมูลมักเกิดขึ้นที่ Data Center เท่านั้น แต่ปัจจุบันข้อมูลเกิดขึ้นข้างนอกมากกว่าครึ่งหนึ่ เพราะฉะนั้นจึงต้องเปลี่ยนวิธีการจัดการ จะต้องเก็บข้อมูลอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด นั่นคือเรื่องของการใช้ IoT (Internet of Thing)

 

 

68% ของบริษัทเหล่านี้ รู้สึกว่าบริษัทเขาเองยังขาดความตื่นรู้ ยังขาดความตื่นตัวในการเก็บข้อมูล กรรมการบริษัท ยังไม่เข้าถึงเรื่องการจัดเก็บข้อมูลที่เพียงพอ ก็เลยยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน สุดท้าย 44% ของผลเชื่อว่าโรคระบาดใน 2 ปีที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งให้องค์กรต้องขยับในเรื่องดิจิทัลให้เร็วขึ้น

 

จากข้อมูล Data Paradox สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องบุคลากร เรื่อง Eco System ในเรื่องเทคโนโลยี แต่ยังขาดการจัดการที่ดีในเรื่อง DATA  จะทำอย่างไรถึงจะนำ DATA มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมแนะนำว่าต้องลงทุน 3 อย่าง 1.เทคโนโลยีต้องมี จะเก็บข้อมูลให้ดีที่สุด รองรับการเติบโต 2.ต้องมีกระบวนการที่ดีในการจัดการ 3.ต้องมีบุคลากรที่พร้อมปัจจุบันเรามีบริการ As a Service เข้ามาตอบสนองความต้องการ บริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนทุกอย่างด้วยตัวเอง ข้อมูลการทำงานบางอย่างเก็บไว้ที่บริษัท แต่กระบวนการวิเคราะห์จัดการ อาจจะจ้างเอาท์ซอร์สทำ ตรงนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้เร็วขึ้น ซึ่งก็ในเมืองไทยก็ถือว่ายังน้อยอยู่

 

สถิติจาก (WIPO World intellectual Property Index) เรื่อง Intellectual Property ระบุว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศ ของประเทศที่ทำได้ดีในเรื่องของ Innovation Output คือนวัตกรรมที่ผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ในขณะที่เมื่อเทียบกับ Innovation Input การสร้างนวัตกรรมต้นน้ำ เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรม ไทยอยู่ที่อันดับ 47 สำหรับ Output เราอยู่อันดับที่ 43 แสดงว่าเรา output  ดีกว่า input สอดคล้องกับว่า เราเป็นประเทศที่ยัง consumption อยู่นะ Excution คือ รับนวัตกรรมมาแล้วทำต่อ แต่เราอาจจะยังไม่ได้สร้างนวัตกรรมเองทั้งหมด เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการพัฒนานวัตกรรมเป็นครีเอเตอร์

 

เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เราอยู่อันดับ 5 จาก 34 ประเทศ และอยู่อันดับ 9 เมื่อเรารวมประเทศที่เป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และกลุ่มโอเชียเนียทั้งหมด อันนี้ก็ไม่เลวเป็นเรื่องที่น่าดีใจด้วยซ้ำไป สะท้อนว่าเรายังสามารถพัฒนาไปได้อีกมาก

 

โดยภาพรวมแล้ว GDP ของไทยทำได้ดีกว่าที่คาดจากสายตาที่คนภายนอกมอง เพราะไทยประสบวิกฤตปัญหาต่างๆ มากมาย ภาคท่องเที่ยวที่สร้าง GDP หลัก ได้รับผลกระทบจากโควิดหนักมาก แต่ก็ยังไม่ได้แย่อย่างที่คิดใน 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าไทยยังรักษาความแข็งแกร่งไว้ได้ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แล้วก็ Thailand 4.0 เนี่ยเป็นแนวนโยบายที่ดี ที่เราขับเคลื่อนมาก่อนใครอื่นด้วยซ้ำไป มันเป็นสร้างการสร้างการตื่นรู้เป็นการลงทุนด้านนวัตกรรมซึ่งก่อให้เกิดความก้าวหน้าและพัฒนาการที่เป็นนวัตกรรม

ธุรกิจยุคใหม่จะก้าวเดินอย่างไรต่อไปกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก

1-2 ปีที่ผ่านมาเป็นภาพสะท้อนที่ดี ธุรกิจไอทีทั่วโลกปีที่แล้วถือเป็นปีที่ดีที่สุดเลย ก็แปลก เพราะโลกเราอยู่ในสภาวะโรคระบาด ทำไมธุรกิจไอทีมันถึงเติบโตได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เหตุผลเพราะว่า คนมีความจำเป็นต้องลงทุนทั้งเทคโนโลยีเพื่ออนาคต เพื่อจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะทุกประเทศและทุกธุรกิจรู้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกจะกี่รอบก็ตาม ถ้าขาดเทคโนโลยีนั่นคือ “หายนะ” ฉะนั้นจำเป็นที่ต้องลงทุนเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้กี่ครั้ง แล้วก็รู้แล้วล่ะว่าโลกมันกำลังจะเปลี่ยนไปแบบนี้นะครับ

 

สองปีที่ผ่านมานานพอที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป อย่าคาดหวังว่า โรคระบาดหมดแล้ว เดือนหน้าจะถอดหน้ากากกันแล้วโลกจะกลับไปเหมือนเดิมในปี 2019 ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว แล้วก็จะเปลี่ยนไปตลอดกาล

 

สำหรับการเตรียมความพร้อมของธุรกิจ มี 2 ประการ คือ เรื่อง Resiliency และ Digital-First Mindset ธุรกิจไทยให้เอา 2 ประการนี้เป็นตัวตั้งก่อน แล้วกลับมาลองวิเคราะห์ว่าในองค์กรของเรา มีความพร้อมในเรื่องทั้งสองนี้แค่ไหน

 

Resiliency  คือความยืดหยุ่นในการทำงาน Work from Home, Work from Anywhere มีการสำรวจเรื่องความพร้อมในการที่จะทำงานจากระยะไกล (Work Remote Work Ready) เราเชื่อว่าพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปแล้ว ถึงแม้ว่าโลกจะกลับไปสู่ภาวะปกติ แต่หลายองค์กรก็ยังมีนโยบายที่เรียกว่า Hybrid Workplace หรือการทำงานผสมผสานแบบผสมผสาน ตอนเกิดโรคระบาดใหม่ๆ คนยังไม่พร้อม องค์กรยังไม่พร้อม เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก องค์กรให้โบ้ตบุ๊กพนักงานไปทำงานจากที่บ้าน แต่ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหลักขององค์กรได้ แต่พนักงานเองมีความพร้อมมาก และอยากทำงานในรูปแบบ Hybrid Workplace ต่อไป

 

ในผลสำรวจยังระบุว่า กลุ่มเป้าหมายหลายคน คิดจะเปลี่ยนงาน เพื่อได้ทำงานแบบ Hybrid Workplace และหลายคนอาจจะตัดสินใจย้ายงานถ้าต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิม ฉะนั้นองค์กรต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ เรื่องดีไวซ์ไม่ใช่ปัญหา แต่เขาต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลขององค์กรได้จากทุกที่ และมีความปลอดภัยเพียงพอ

 

นอกจากนี้ยังต้องมี Forum ที่ให้เขาสามารถเข้ากับสังคมได้ ไม่ใช่อยู่บนออนไลน์อย่างเดียว  เพราะการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ไม่เหมือนการทำงานเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน เรามีการปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา เราได้ฝึกสกิลในการเข้าสังคม เราได้ฝึกสกิลในการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นทีม แต่วันนี้ทุกอย่างทำงานแบบ Virtual ทั้งหมด บริษัทจึงต้องจัดเตรียม Forum ไว้เพื่อสร้าง)ฏิสัมพันธ์ให้พนักงาน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ รวมถึงการจัดตารางทำงานว่าสัปดาห์นี้ต้องเข้าออฟฟิศกี่วัน ทำงานที่บ้านกี่วัน

 

Digital-First Mindset สร้างโมเดลการดำเนินธุรกิจที่ให้ให้ความสำคัญกับดิจิทัลเป็นอันดับแรก ในการนำ Digital Business มาใช้ มีเรื่องที่ต้อง Breakthrough อยู่ 3 ประการ

 

1.Breakthrough The Connectivity พนักงานต้องอยู่ที่ไหนก็ได้ ทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยมีการเชื่อมต่อกับข้อมูลองค์กรที่ปลอดภัย มีแอปที่ดี มีเรื่องมือที่ช่วยให้เขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อตอบโจทย์เด็ก Gen ใหม่ที่ไม่อยากกลับไปนั่งทำงานออฟฟิศเหมือนเดิมแล้ว 

 

2.Breakthrough Productivity  งานหลายๆอย่างที่เราเคยทำอยู่เทคโนโลยีมันทำแทนเราได้ องค์กรต้องลงทุนในเรื่อง AI และ Machine Learning เพื่อลดการทำงานรูทีน และให้พนักงานไปสร้างวัตกรรม สร้างสิ่งใหม่ที่มีค่าให้กับองค์กร นั่นคือเริ่มการผสมผสานแล้ว เอา AI มาทำงานและใช้คนมากำกับดูแล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น

 

3.Breakthrough of Empathy ยึดหลักความเห็นอกเห็นใจในการทำงาน มองพนักงานอย่างเข้าใจ เรียนรู้วิธีการทำงานของเขา เอาความเป็นมนุษย์ใส่ลงไปในเรื่องของการทำงาน ทั้งในการควบคุมการผลิต การออกแบบ งานวิจัยต่างๆ

 

3ส่วนนี้มาประกอบกันแล้ว ทำให้องค์กรไทยสามารถที่จะพัฒนาขึ้นได้อีกมาก เพียงแต่เราต้องไม่หยุดอยู่กับที่ แล้วก็ไม่ถอยหลัง ต้องไปไปให้เร็วกว่าประเทศอื่นๆนะครับ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะแนะนำครับ

ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี นวัตกรรมถนนจากขยะ ต้นแบบงานวิจัยเพื่อโลกสีเขียว | Passion Talk EP051
https://www.passiongen.com/inspired/passion-talk/2022/04/ผศ-ดร-พฤกษ์-อักกะรังสี-นว

 

DUEL ART EXHIBITION มุมมองศิลป์จากปลายกระบอกปืน โดย ปิยทัต เหมทัต และ แทน โฆษิตพิพัฒน์ | Passion Talk EP050
https://www.passiongen.com/inspired/passion-talk/2022/22/duel-art-exhibition-ศิลป์จากปลายปืน

 

ที่สุดแห่งแรงบันดาลใจกับงาน Passion Awards ครั้งที่ 1 | Passion Talk EP049
https://www.passiongen.com/inspired/passion-talk/2022/07/ที่สุดแห่งแรงบันดาลใจก

Passion in this story