ผลิตภัณฑ์ชีวภาพถือเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความสนใจ และเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อม วันนี้เราจะมาดู 2 งานวิจัยฝีมือคนไทยที่จะมาช่วยเปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้

เปลี่ยนกากกาแฟเหลือทิ้ง เป็นพลาสติกย่อยสลายได้

มาดูงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้นำกากกาแฟเหลือทิ้งมาต่อยอดเป็นพลาสติกย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ ในชื่อแบรนด์ “NU Bio Bags” จนได้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ทางเลือกสำหรับผู้ที่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อลดขยะให้กับโลกกันครับ

    ผู้ดูแลงานวิจัย “NU Bio Bags” นี้คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากจำนวนขยะในอุสาหกรรมการเกษตร  อย่างถุงดำที่ใช้ใส่กล้าไม้ หลังจากเรานำต้นไม้ลงดินเพื่อปลูกแล้ว ถุงดำเหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์ หากกำจัดไม่ถูกวิธีก็จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จึงได้ทำการทดลองนำ “กากกาแฟ” มาทำการวิจัยให้ได้เป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

     การทดลองเบื้องต้นได้นำกากกาแฟที่จากร้านคาเฟ่ต่างๆ ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจัดว่าเป็นขยะเหลือทิ้ง มาแปลรูปเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 

    โดยนำกากกาแฟ มาผสมกับ “พอลิแลคติกแอชิด” ซึ่งสารนี้ก็มาจากกระบวนการหมักแป้งและน้ำตาล หลังจากการผสมแล้วก็จะนำมาขึ้นรูปด้วยกระบวนการเป่าฟิล์มด้วยเครื่องเป่าฟิล์ม (blow film extruder) จนเป็นฟิล์มบาง ซึ่งพลาสติกที่ได้มานี้ เป็นพลาสติกที่ใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติปราศจากการใช้สารเคมี และสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ 100% ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน

    นอกจากจะนำไปผลิตเป็นถุงเพาะกล้าไม้แล้ว ก็ยังได้มีการนำไปต่อยอดเป็นบรรจุภัณฑ์อื่นๆ อีก ซองใส่อาหาร หรือใส่อุปกรณ์ต่างๆ เนื่องจากสีธรรมชาติของพลาสติกคือสีชา สามารถช่วยในเรื่องการกรองแสงได้ การนำมาใส่ สินค้าทางการเกษตร เช่น ชา ผลไม้อบแห้ง เมล็ดพืช ก็ตอบโจทย์การรักษาคุณภาพได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการนำไปใส่อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งทางโครงการได้ร่วมมือกับทางโรงแรมที่มีนโยบายลดขยะ ในการนำไปใส่อุปกรณ์เครื่องใช้แทนการใช้พลาสติกธรรมดาทั่วไป ก็สามารถช่วยลดปัญหาในเรื่องขยะพลาสติกให้กับทางโรงแรมได้อีกด้วย

แปลงเศษอาหารสู่สารบำรุงพืชชีวภาพ

    เนื่องจากขยะมูลฝอยเป็นหนึ่งในปัญหามลพิษอันดับต้นๆ ของประเทศไทย จากการสำรวจโดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากชุมชนทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2560 มีปริมาณมากถึง 27.37 ล้านตัน หรือ 74,998 ตันต่อวัน    

          ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี ผู้ดูแลโครงการ “BioVIS สารบำรุงพืชชีวภาพ” มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเศษอาหาร ทางโครงการจึงได้จัดทำโครงการ “ขยะเพิ่มทรัพย์” โดยร่วมกับทีมวิจัยและนิสิต ด้วยการนำเศษอาหารจากโรงอาหารภายในพื้นที่ของสถาบันวิทยสิริเมธี มาทำการหมักด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ และได้เกิดผลลัพธ์เป็นเพื่อให้ได้สารบำรุงพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

     หลังจากที่ได้ทำการวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องสารชีวภาพที่ได้จากเศษอาหาร ทางโครงการจึงได้นำสารที่ได้มานั้นต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงพืชในชื่อ BioVIS

     BioVIS  ส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy เปลี่ยนสิ่งที่ไม่มีมูลค่าอย่างเศษอาหารให้เป็นสารบำรุงพืชที่มีคุณภาพด้วยกระบวนการทางชีวภาพ โดยอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์ทั้งแบบใช้อากาศและไม่ใช้อากาศ  โดยกระบวนการผลิตช่วยแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอินทรีย์ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม  เนื่องจาก สารบำรุงพืชชีวภาพ BioVis ถูกผลิตจากขยะเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทาน ไม่มีการเติมสารเคมีลงในผลิตภัณฑ์ รวมถึงกระบวนการผลิตที่ใช้จุลินทรีย์ตามธรรมชาติในการย่อยขยะเศษอาหาร เพื่อผลิตเป็นสารบำรุงพืชที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นผลิตภัณฑ์จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และช่วยจัดการกับปัญหาขยะเศษอาหารได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

Passion in this story