มาอัปเดตข่าวสารเกี่ยวกับ นวัตกรรมการพิมพ์ 3 มิติ และนวัตกรรมการพิมพ์ 4 มิติ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

บรา 3D printing ใส่ใจสรีระ ใส่ใจโลก

Fusion Bra เป็นเสื้อชั้นในที่ออกแบบและผลิตด้วย 3D Printing เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้หญิง โดย Braave  บริษัทผู้ผลิตเสื้อชั้นในจากประเทศฝรั่งเศส

การนำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติมาใช้ในการผลิตเสื้อชั้นในเฉพาะบุคคลนี้ ทำให้ได้เสื้อชั้นในที่มีความพอดีตัว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

      เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ โดยได้เปลี่ยนความยุ่งยากในการเลือกเสื้อชั้นในที่มีขนาดพอดีตัวให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยการสแกนข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันมือถือ Breast ID จากนั้นใช้แอปพลิเคชันสแกนเก็บข้อมูลขนาดของหน้าอก โดยในขั้นตอนนี้เป็นการเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย ไม่มีการเก็บรูปภาพอื่น ๆ ของผู้ใช้งาน เพราะจะเป็นเพียงภาพข้อมูลเชิงลึกแบบ 3 มิติ แล้วผู้ผลิตจะพิมพ์เสื้อชั้นในที่มีขนาดเฉพาะกับผู้ใช้งานผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

     แนวคิดนี้เกิดจากความต้องการที่จะเสื้อชั้นในเฉพาะบุคคลที่มีความพอดี และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงผลักดันให้ผู้หญิงเกิดความมั่นใจในรูปร่างของตัวเอง 

     เสื้อชั้นในที่ได้จากการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะมีลักษณะโค้งงอรับกับขนาดหน้าอกของผู้ใช้ และมีบราซ้ายขวาที่มีความนุ่มมากเป็นพิเศษ เพราะ 75% ของวัสดุที่นำมาผลิตทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล จึงเป็นเสื้อชั้นในที่มีความเฉพาะตัวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว

หมึกพิมพ์อัจฉริยะ อนาคตนวัตกรรมทางการแพทย์

       เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติแบบดั้งเดิม คือการนำวัตถุดิบตั้งต้นที่ทำหน้าที่เสมือน “หมึกพิมพ์” ใส่ลงในเครื่องพิมพ์ จากนั้นเมื่อออกแบบโครงสร้างที่ต้องการและสั่งพิมพ์แล้ว หมึกพิมพ์ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นวัสดุจำพวกพลาสติกจะถูกปล่อยออกมาตามหัวพิมพ์ มีการพิมพ์ไล่ระดับจากล่างขึ้นบนจนกระทั่งเกิดเป็นรูปร่างของสิ่งของที่ถูกออกแบบไว้ในโปรแกรม แต่การพิมพ์สามมิตินั้นจะได้เพียงชิ้นงานที่มีความแข็งทื่อ ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้นำเสนอเทคโนโลยีการพิมพ์สี่มิติ (4D Printing) ด้วย “หมึกอัจฉริยะ” (Smart ink) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ถูกพัฒนาขึ้นให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นจากภายนอก

อย่างไรก็ตาม การพิมพ์สี่มิติในช่วงแรกนั้น จะใช้วัสดุหมึกพิมพ์เป็นสารจำพวกพอลิเมอร์จดจำรูปร่าง (Shape-memory polymers) หรือไฮโดรเจล (Hydrogel) ซึ่งในกรณีของพอลิเมอร์จดจำรูปร่างจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบอื่นได้เลย ในขณะที่ไฮโดรเจลจะเปลี่ยนแปลงได้เมื่ออยู่ในน้ำเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเมืองไอนด์โฮเวน จึงเปลี่ยนไปใช้วัสดุจำพวกคริสตัลเหลว หรือที่เรียกว่า “หมึกอัจฉริยะ” แทน

       ข้อดีของหมึกอัจฉริยะนี้ คือผู้ใช้สามารถปรับแต่งโครงสร้างได้ในระดับโมเลกุล อีกทั้งยังตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้หลายรูปแบบ ทั้งความร้อน, ความชื้น หรือแสงสว่าง จึงได้เปรียบกว่าวัสดุที่เคยนำมาใช้ในเทคโนโลยีการพิมพ์สี่มิติก่อนหน้านี้

      การนำชิ้นงานจากเครื่องพิมพ์สี่มิติที่ใช้หมึกอัจฉริยะนี้เป็นวัสดุตั้งต้น อย่างหนึ่งที่เป็นไปได้มากคือการสร้างอวัยวะเทียมทางการแพทย์ หรือใช้ในงานผลิตหุ่นยนต์ เป็นต้นว่าคุณสามารถพิมพ์ “ม่านตาเทียม” ขึ้นมาได้จากหมึกอัจฉริยะ โดยม่านตานี้สามารถหด-ขยายได้ตามความเข้มของแสงที่ตกกระทบ นี่จึงเป็นจุดเด่นที่สำคัญของหมึกอัจฉริยะ และคาดว่าจะได้เห็นการนำมาประยุกต์ใช้กันอีกมากในอนาคต

Passion in this story