แม้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังจะก้าวขึ้นเป็นเจ้าตลาดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

.

อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เพื่อที่จะก้าวไปไปเทียบเคียงประเทศชั้นนำในภูมิภาค…

 .

อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของไทยเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นที่การปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีทางการทหารให้ทันสมัยมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการอนุมัติงบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อลงทุนในปรับปรุงยุทโธปกรณ์ทางการทหาร รวมทั้งการจัดหาเรือดำน้ำ เครื่องบินขับไล่ และเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งในหลายแง่มุมก็เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมถึงความจำเป็นของการลงทุนเหล่านี้ ในสภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน

.

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศไทย ถูกขับเคลื่อนโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) และศูนย์ผลิตอาวุธของกองทัพบกไทย และที่ผ่านมารัฐบาลยังได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหายุทธภัณฑ์ให้กองทัพมากขึ้น รวมถึงการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ร่วมกัน และดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น มาตรการจูงใจทางภาษีและโครงการส่งเสริมการลงทุน

.

ในด้านความมั่นคงนั้น ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การก่อการร้าย การก่อความไม่สงบ และอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงการเพิ่มความปลอดภัยชายแดน เสริมสร้างความสามารถด้านข่าวกรอง และเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์อุตสาหกรรมกลาโหมและความมั่นคงของไทยมีศักยภาพที่จะกลายเป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาคเนื่องจากปัจจัยหลายประการ

ประการแรก ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ทั้งด้านภูมิศาสตร์ ยุทธศสตร์ เศรษฐกิจ และการค้า

.

ประการที่สอง ภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ มีความเข้มแข็ง ได้รับการยอมรับจากสากล ทั้งการบิน การต่อเรือ ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์

.

ประการที่สาม ไทยสร้างความร่วมมือกับซัพพลายเออร์จากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย เพื่อซื้อยุทธภัณฑ์และถ่ายโอนเทคโนโลยี

.

แต่ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังมีจุดอ่อนอีกหลายประการ ที่ทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยมีความเปราะปราง ในหลายด้าน ได้แก่

1.ความสามารถในการผลิตในประเทศมีจำกัด  ประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้ายุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีทางทหารจากต่างประเทศ ขณะที่การผลิตในประเทศมีข้อจำกัด และการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

.

2.ขาดกำลังแรงงานที่มีทักษะ การพัฒนาอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่งต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งประเทศยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังขาดกระบวนการศึกษาเรียนรู้และสร้างแรงงานกลุ่มนี้ให้มีทักษะอย่างแท้จริง

.

3.การทุจริต การทุจริตเป็นปัญหาสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในทุกด้าน ตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การพัฒนาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ การทุจริตที่ฝักรากลึกเป็นสิ่งขัดขวางการพัฒนา

.

4.งบประมาณที่จำกัด งบประมาณกลาโหมของไทยมีจำกัด ซึ่งจำกัดความสามารถของประเทศในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาและการจัดหาเทคโนโลยีและยุทโธปกรณ์ขั้นสูง รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณกลาโหมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกลาโหม

5.การแข่งขันกับต่างประเทศ ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศอื่น เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในภูมิภาค นั่นทำให้ประเทศไทยต้องวางยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมให้โดดเด่นและแตกต่างจากประเทศอื่นๆ

.

6.การสนับสนุนจากรัฐ การผลักดันให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเติบโต จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐและกองทัพในการส่งเสริมและนำอาวุธเหล่านั้นมาใช้ ทั้งในมุมของวิจัยพัฒนา และความเชื่อมั่นว่าได้รับการยอมรับจากรัฐบาลของประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นเติบโตและขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

.

ประเทศไทยจึงมีทั้งโอกาสและอุปสรรค ในการจะพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาจจะต้องลดจุดอ่อน และเสริมจุดแข็งให้โดดเด่นมากขึ้น เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่จุดที่มีความสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างแท้จริง

Passion in this story